วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

มวยไชยา

มวยไชยา (มวยไทยภาคใต้) 

มวยไชยา
มวยไชยา
มวยไชยา เป็นมวยไทยโบราณของภูมิปัญญาไทย บรรพบุรุษไทย กษัตริย์ไทยที่สืบทอดกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อสืบสานต่อไปในอนาคตที่ยั่งยืน มวยไชยาสามารถแบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคเริ่มต้น กำเนิดขึ้นจากพ่อท่านมา หรือหลวงพ่อมาอดีตนายทหารจากพระนครสมัยรัชกาลที่ 3 ฝึกมวยให้กับชาวเมืองไชยา ยุคเฟื่องฟูในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช จากนั้นได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ แก่นักมวยจากเมืองไชยา คือ นายปรง เป็นหมื่นมวยมีชื่อ ตำแหน่งกรรมการพิเศษ เมืองไชยา ถือศักดินา 300 ยุคเปลี่ยนแปลงในช่วงรัชสมัยพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นเพราะต้องรื้อเวที และพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) เจ้าอาวาสเจ้าอาวาสวัดไชยามรณภาพลง

มวยไทยไชยาจึงสิ้นสุดลงด้วยยุคอนุรักษ์หลังจากสิ้นสุดสมัยพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) มวยไทยไชยาเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวไชยา อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่เคยเรียนมวยไทยไชยา แล้วนำมาสืบทอดต่ออีกหลายท่าน เช่น ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย นายทองหล่อ ยา และนายอมรกฤต ประมวล นายกฤษดา สดประเสริฐ นายอเล็กซ์ สุย และพันเอก อำนาจ พุกศรีสุข เป็นต้น

นักมวยที่มีชื่อเป็นที่รู้จักได้แก่ หมื่นมวยมีชื่อ นายปล่อง จำนงทอง ผู้มีท่าเสือลากหางเป็นอาวุธสำคัญการต่อสู้เน้นวงในใช้ความคมของศอก เข่า ประวัติมวยไชยาสืบค้นได้ถึง พระยาจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถ่ายทอดมายังบุตรชายคือ ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ซึ่งภายหลังย้ายมาตั้งรกรากที่กรุงเทพ ฯ เผยแพร่มวยไชยาแก่ศิษย์มากมายจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2521

เอกลักษณ์ของมวยไชยา

เอกลักษณ์ของมวยไชยา พบว่ามีอยู่ 7 ด้าน คือ การตั้งท่ามวยหรือการจดมวย ท่าครูหรือ ท่าย่างสามขุม การไหว้ครูร่ายรำ การพันมือแบบคาดเชือก การแต่งกาย การฝึกซ้อมมวยไชยาและแม่ไม้มวยไชยา กระบวนท่ามวยไชยามีทั้งหมด 5 ชุด คือ แม่ไม้มวยไทยไชยา 7 ท่า ได้แก่ ปั้นหมัด พันแขน พันหมัด กระโดดตบศอก พันหมัดพลิกเหลี่ยม เต้นแร้งเต้นกา ย่างสามขุม ท่าที่สำคัญคือท่า เสือลากหาง เคล็ดมวยไชยาที่ใช้ป้องกันได้ดีที่สุดคือ ป้อง ปัด ปิด เปิด (จัตุชัย จำปาหอม, 2550)

มวยลพบุรี

มวยลพบุรี (มวยไทยภาคกลาง)

มวยลพบุรี
มวยลพบุรี
มวยลพบุรี มีวิวัฒนาการและเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทำให้มวยลพบุรีแบ่งช่วงเวลาต่าง ๆ ตามความสำคัญเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 1200 ถึง 2198 นับเป็นช่วงเริ่มต้นของมวยลพบุรี มีปรมาจารย์สุกะทันตะฤาษี เป็นผู้ก่อตั้งสำนักขึ้นที่ เขาสมอคอน เมืองลพบุรี มีลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2199 ถึง 2410 ถือเป็นช่วงสืบทอดของมวยลพบุรี ในสมัยนี้ สมเด็จพระนารายณ์ มหาราช พระมหากษัตริย์ ที่ส่งเสริมมวยลพบุรี อย่างกว้างขวาง มีการจัดการแข่งขันโดยกำหนดขอบสังเวียนและมีกติกาการแข่งขัน

โดยมีพระพุทธเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์ อีกพระองค์หนึ่งที่สนับสนุนมวยไทยและชอบชกมวยและมักปลอมพระองค์ไปชกมวยกับชาวบ้านอยู่เป็นประจำ ช่วงที่ 3 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2411 ถึง 2487 เป็นช่วงพัฒนาของมวยลพบุรี ช่วงนี้มวยลพบุรี โด่งดังมากและเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เรียนวิชามวยไทยจากปรมาจารย์หลวงมลโยธานุโยค

เอกลักษณ์ของมวยลพบุรี

เอกลักษณ์ของมวยลพบุรี เป็นมวยที่ชกฉลาด รุกรับคล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ เรียนลักษณะการต่อยมวยแบบนี้ว่า มวยเกี้ยว ซึ่งหมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้ โดยใช้กลลวงมากมายจะเคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อหลบลีกได้ดี สายตาดี รุกรับและออกอาวุธ หมัด เท้า เข่า ศอก ได้อย่างรวดเร็ว สมกับฉายา ฉลาดลพบุรี เอกลักษณ์ที่เห็นชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ มีการพันมือครึ่งแขน แต่ที่เด่นและแปลกกว่ามวยสายอื่น ๆ ก็คือ การพันคาดทับข้อเท้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมวยลพบุรี (ชนทัต มงคลศิลป์, 2550)

มวยโคราช

มวยโคราช (มวยไทยภาคอีสาน)
มวยโคราช
มวยโคราช
มวยไทยโคราช เป็นการต่อสู้แบบมือเปล่าที่พันด้วยเชือกหรือด้ายดิบของชนชาติไทยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 มวยไทยโคราช เป็นมวยที่มีมาในประวัติศาสตร์ไทยมาช้านานเป็นศิลปะมวยไทยที่มีชื่อเสียงตลอดมาเท่ากับมวยลพบุรี มวยอุตรดิตถ์ มวยไชยา ซึ่งมีนักมวยจากหัวเมืองคือเมืองโคราชได้สร้างชื่อเสียง

จากการไปแข่งขันชกมวยในพระนครโดยชกชนะนักมวยภาคอื่น ๆ นับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น โดยเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ พ.ศ.2411 พระองค์ทรงโปรดกีฬามวยไทยมาก การฝึกหัดมวยไทยแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศทรงจัดให้ทีการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งในงานศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์อุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18 – 21 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ณ ทุ่งพระรุเมรุ นักมวยที่เจ้าเมืองต่าง ๆ นำมาแข่งขันล้วนแต่คัดเลือกคนที่มีฝีมือดีจากทั่วประเทศ การแข่งขันครั้งนี้ได้นักมวยที่สามารถชกชนะคู่ต่อสู้หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระองค์ และโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ให้กับนักมวยมณฑลนครราชสีมาเมืองโคราชเป็นขุนหมื่นครูมวย คือ “หมื่นชงัดเชิงชก” ถือศักดินา 300 คือ นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์คุณพระเหมสมาหารเจ้าเมืองโคราช มีชื่อเสียงในการใช้ “หมัดเหวี่ยงควาย”

อีกทั้งยังมีนักมวยโคราชที่มีความสามารถจนได้เป็นครูสอนพลศึกษา ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนถึงเกษียณอายุราชการ รวมเวลาถึง 28 ปี คือ ครูบัว นิลอาชา (วัดอิ่ม) และยังมีมวยโคราชที่มีฝีมือดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถึงกับเป็นครูสอนมวยไทยให้กับนักมวยจากเมืองโคราชที่วังเปรมประชากร เช่น นายทับ จำเกาะ นายยัง หาญทะเล นายตู้ ไทยประเสริฐ นายพูน ศักดา เป็นต้น

มวยโคราชคาดเชือกยุคฟื้นฟูอนุรักษ์ สมัยรัชกาล 9 ถึงปัจจุบัน ไม่มีการฝึกซ้อมที่เมืองโคราช แต่ยังมีลูกศิษย์ครูบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา) คือ พันเอกกำนาจ พุกศรีสุข ทำการถ่ายทอดมวยโคราชคาดเชือกให้กับผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน อยู่ที่ สยามยุทธ์ กรุงเทพ ฯ ทุกวัน ครูเช้า วาทโยธา ที่ยังอนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอด มวยโคราช ให้กับลูกศิษย์ และผู้ที่สนใจเป็นประจำที่โรงเรียนบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งเปิดสอนในวิชาเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 ปีละ 450 คน

เอกลักษณ์มวยไทยโคราช

เอกลักษณ์มวยไทยโคราช พบว่า สวมกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชก การพันหมัดแบบคาดเชือก ตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยโคราช เป็นมวยต่อยวงกว้าง และใช้หมัดเหวี่ยงควาย การพันเชือกเช่นนี้ เพื่อป้องกันการเตะ ต่อยได้ดี การฝึกฝึกจากครูมวย

ในหมู่บ้าน ต่อจากนั้นจึงได้รับการฝึกจากครูมวยในเมือง ขั้นตอนการฝึกโดยใช้ธรรมชาติ เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุมและฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญ โบราณ 21 ท่า แล้วมีโคลงมวยเป็นคติสอนนักมวยด้วย พร้อมคำแนะนำ เตือนสติไม่ให้เกรงกลัวคู่ต่อสู้ (เช้า วาทโยธา, 2550)

มวยท่าเสา

มวยท่าเสา(มวยไทยภาคเหนือ)

มวยท่าเสา
มวยท่าเสา
มวยไทยท่าเสา เป็นสายมวยไทยภาคเหนือ ที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสายมวยไทยท่าเสากำเนิดขึ้นเมื่อใดใครเป็นครูมวยคนแรกแต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้ทราบว่าครูมวยไทยสายท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งคือ ครูเมฆที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องความคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว เด็ดขาด มีลีลาท่าทางสวยงามและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เตะ ถีบ และศอก เป็นที่ลือกระฉ่อนจนนายทองดี เองถึงกับปฎิญาณกับตัวเองว่าจะต้องมาขอเรียนศิลปะมวยไทยกับสำนักท่าเสาให้ได้ และก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูเมฆผู้ประสิทธิประสาทวิชามวยไทยให้แก่ นายทองดี ซึ่งได้นำความรู้ที่ได้รับไปผสมผสานกับมวยจีนอีกต่อหนึ่ง

เมื่อนายทองดีได้เป็นเจ้าเมืองพระยาพิชัย ก็ได้มาคารวะครูเมฆและแต่งตั้งให้ครูเมฆเป็นกำนันปกครองตำบลท่าอิฐต่อไป ครูเมฆได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้สืบสกุลต่อมาจนถึงครูเอี่ยม ครูเอี่ยมถ่ายทอดแก่ผู้สืบสกุลคือครูเอม ครูเอมถ่ายทอดแก่ผู้สืบสกุลคือครูอัด คงเกตุ ซึ่งเมื่อครูอัด คงเกตุ และลูกศิษย์มาชกมวยในกรุงเทพฯ ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้ใช้ซื่อค่ายมวยว่า เลือดคนดง ครูเอมยังได้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้แก่หลานตาอีก 5คน รุ่นราวคราวเดียวกับครูอัด ทั้ง 5คน เป็นนักมวยตระกูล เลี้ยงเชื้อ ซึ่งต่อมา กรมหลวงชุมพร ฯ ได้เปลี่ยนให้เป็น เลี้ยงประเสริฐ เป็นบุตรนายสอน นางขำ (ลูกครูเอม) สมพงษ์ แจ้งเร็ว เขียนกล่าวว่า ทั้ง 5 คน เป็นยอดมวยเชิงเตะ มีกลเม็ดเด็ดพรายแพรวพราวทุกกระบวนท่าที่ได้สืบทอดมาจากสำนักท่าเสาของครูเมฆจนมีชื่อเสียงลือลั่นในช่วงเวลานั้น ทั้ง 5คน ได้แก่

1. ครูโต๊ะ เกิดประมาณ พ.ศ.2440 เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายสอนและนางขำ เป็นนักมวยที่มีอาวุธหนักหน่วงและเชิงเตะ เข่า และหมัดรวดเร็ว
2. ครูโพล้ง เกิดปี พ.ศ.2444 มีอาวุธมวยไทยรอบตัว โดยเฉพาะลูกเตะที่ว่องไว และรุนแรง และความสามารถในการถีบอย่างยอดเยี่ยม จนได้รับฉายาว่า มวยตีนลิง ครูโพล้งมีเอกลักษณ์การไหว้ครูร่ายรำตามแบบฉบับของสำนักท่าเสา ในจำนวน 5 คน ครูโพล้ง มีฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อมาชกกรุงเทพ ฯ เคยชนะ นายสร่าง ลพบุรี และครูบัว วัดอิ่ม เคยชนะนายสิงห์วัน ประตูเมืองเชียงใหม่ ที่เชียงใหม่ และนายผัน เสือลาย ที่โคราช แต่เคยพลาดท่าแพ้ นายสุวรรณนิวาสวัด ที่กรุงเทพ ฯ ครั้งหนึ่ง เพราะโดนจับขาเอาศอกถองโคนขาจนกล้ามเนื้อพลิก
3. ครูฤทธิ์ เกิดปี พ.ศ.2446 มีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนกว่าพี่น้องทั้งหลาย เคยชกชนะหลายครั้งที่กรุงเทพ ฯ และเคยชกเสมอ บังสะเล็บ ครูมวยคณะศรไขว้ (ลูกศิษย์ครูแสง อุตรดิตถ์ ผู้สืบทอดสายมวยพระยาพิชัยดาบหัก)
4. ครูแพ เกิดปี พ.ศ.2447 เป็นนักมวยเลื่องชื่อระดับครูโพล้ง เคยปราบ บังสะเล็บ ศรไขว้ ชนิดที่คู่ต่อสู้บอบช้ำมากที่สุด และชก นายเจียร์ พระตะบอง นักมวยแขกครัวเขมร ถึงแก่ความตายด้วยไม้หนุมานถวายแหวน ทางราชการจึงกำหนดให้มีการสวมนวมแทนคาดเชือก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
5. ครูพลอย เกิดปี พ.ศ.2450 เป็นมวยที่คล่องแคล่วว่องไวในเชิงเตะ ถีบ และหมัด เนื่องจาก ครูโพล้ง เป็นผู้ถ่ายทอดเชิงชกให้ด้วย ครูพลอยถึงถอดแบบการใช้เท้าจากครูโพล้ง ครูพลอยเคยมาชกชนะในกรุงเทพ ฯ หลายครั้งแต่ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

นอกจากครูโพล้งและพี่น้องได้ร่วมกันสอนเชิงมวยให้แก่ลูกศิษย์หลายคนที่มีชื่อเสียงแล้วยังมีศิษย์สำนักท่าเสาอีกหลายคนคือ นายประพันธ์ เลี้ยงประเสริฐ นายเต่า คำฮ่อ (เชียงใหม่) นายศรี ชัยมงคล ผู้เป็นเพื่อนสนิทของครูพลอยและเป็นผู้ที่ ผล พระประแดง ยอมรับว่าเจ็บตัวมากที่สุดเมื่อได้ชกแพ้ นายศรี อย่างสะบักสะบอม ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตการต่อสู้เลย เพราะนายศรี มีอาวุธหนักหน่วงเกือบทุกอย่างและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีเชิงมวยสูงมากด้วย

ครูมวยจากสายท่าเสาทั้ง 5 ได้จากไปหมดแล้ว โดยครูพลอย ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังหนุ่ม หลังจากนั้นก็ตามด้วย ครูฤทธิ์ สำหรับครูโต๊ะก่อนถึงแก่กรรมได้บวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัด คุ้งตะเภา ครูแพ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.2520 และครูโพล้ง ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.2522 มีอายุได้ 78 ปี ก่อนถึงแก่กรรม คณะกรรมการจัดงานพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งจัดให้มีการแข่งขันชกมวยประจำปี จะเชิญ ครูโพล้ง ขึ้นไปไหว้ครูร่ายรำตามแบบฉบับของสำนักมวยท่าเสาให้คนชมทุกปี หลังจากการจากไปของครูโพล้ง มวยไทยสายท่าเสา ได้ลดบทบาทลงไปอย่างมาก ยิ่งครูมวยใน

ปัจจุบันสอนมวยตามแบบฉบับของสายมวยอื่น ๆ มวยไทยสายครูเมฆ แห่งสำนักท่าเสาก็ยิ่งถูกลืมเลือนไป แม้แต่ชาวอุตรดิตถ์เองปัจจุบันยังไม่สามารถทราบหรือบอกความแตกต่างของมวยท่าเสากับมวยสายอื่น ๆ ได้เลย

เอกลักษณ์ของมวยสายท่าเสา (มวยไทยภาคเหนือ)

เอกลักษณ์ของมวยสายท่าเสา การไหว้ครูจะไหว้พระแม่ธรณีก่อนทำพิธีไหว้ครู การไหว้ครูมวยท่าเสาจะไหว้บรมครูก่อนคือ พระอิศวร เพราะถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาการต่อสู้แบบฉบับมวยท่าเสา การกราบพระรัตนตรัย จะกราบในทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ซึ่งเป็นทิศที่ผีฟ้าไม่ข้าม การนับหน้าไหว้ครูไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นไปตามประเพณีของพราหมณ์ ในการเห็นหน้าโบราณสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สอดคล้องกับความเชื่อว่าบรมครูของมวยท่าเสามีพระอิศวรและทิศตะวันออกเป็นทิศที่พระอาทิตย์ส่องแสงมาสู่โลก และมวลมนุษย์เป็นสัญญาลักษณ์ของวันใหม่และจุดเริ่มต้นที่เป็นมงคล หรือนักมวยก่อนกราบจะหันหน้าเข้าหาดนตรี ปี่ กลอง เพราะถือว่า ดนตรี ปี่ กลอง ได้ไหว้ครูหรือพระอิศวรแล้ว การจดมวยของมวยท่าเสามือซ้ายนำและสูงกว่ามือขวา เมื่อเปลี่ยนเหลี่ยมมือขวานำและสูงกว่ามือซ้าย เมื่อตั้งมวยได้ถูกต้องและย่างแปดทิศได้คล่องแคล่วว่องไวแล้ว

นักมวยจะต้องฝึกท่ามือสี่ทิศพร้อม ๆ กัน กับการจดมวยและย่างแปดทิศ ท่ามือต้องออกด้วยสัญชาตญาณเพื่อให้เกิดการ “หลบหลีก ปัด ป้อง ปิด” ในการป้องกันตัว การคาดเชือกสายมวยท่าเสาต้องเอาเชือกด้านตราสังผีมาลงคาถาอาคมแล้วบิดให้เขม็งเกลียง

หลังจากนั้นเอามาขดก้นหอย 4 ขด แล้วเอาด้ายตราสังมาเคียนทำเป็นวง 4 วง รองข้างล่างก้นหอยอีกทีหนึ่ง เพื่อสวมเป็นสนับมือ เมื่อสวมนิ้วมือแล้วก็เอาด้ายตราสังมาเคียนทับอีกทีหนึ่ง จากนั้นเชือกที่คาดจะต้องลงรักและคลุกน้ำมันยาง จากนั้นก็คลุกแก้วบดอีกทีหนึ่งเป็นอันเสร็จพิธีคาดเชือก นักมวยสายท่าเสาจะต้องเสกพริกไทย 7 เม็ด กินทุกวันเพื่อให้อยู่ยงคงกะพันและเสกคาถากระทู้ 7 แบกประจำทิศบูรพา คือ อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา 15 จบ ก่อนขึ้นชกต้องเสกหมากหรือว่านเคี้ยวกินด้วยคาถาฝนแสนห่า ประจำทิศอาคเนย์ 8 จบ คือ ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง ครูอาจเสกแป้งประหน้านักมวยก่อนชกด้วยนะจังงัง มวยท่าเสาอาจจะสูญสิ้นไปหากไม่มีการอนุรักษ์ สืบสาน ตำนานมวย “ลาวแกมไทย ตีนไวเหมือนหมา” เอาไว้ ลาวแกม หมายถึงคนเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งมีคนเมือง คนไทยภาคกลาง และคนลาวอยู่ร่วมกัน โดยคนเมืองอยู่เหนือแม่น้ำน่าน คนไทยอยู่ใต้แม่น้ำ และคนลาวอยู่ทางตะวันออก จึงมีการผสมผสานวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาเข้าด้วยกัน ทั้งยังมีการแต่งงานระหว่างกันด้วย ทำให้คนอุตรดิตถ์มีลักษณะ “ลาวแกมไทย” (สมพร แสงชัยและคณะ, 2545)

มวยไทย พุ่งหอก

มวยไทย พุ่งหอก
พุ่งหอก
พุ่งหอก

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาจดเหลี่ยมขวา

ฝ่ายรับ ขยับรุกใช้ศอกซ้ายยกขึ้นพับมือมาทางกกหูซ็ายพุ่งศอกตีแสกหน้าคู่ต่อสู้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกเข่าซ้ายพุ่งไปบริเวณท้องคู่ต่อสู้

การป้องกัน ใช้หมัดซ้ายพุ่งชกไปที่หน้า ศอกขวาลดลงปิดท้อง

การตอบแก้ ใช้เท้าถีบหน้าท้องคู่ต่อสู้

ถ้าคู่ต่อสู่จดเหลี่ยมซ้าย ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย ศิลากระทบ

มวยไทย ศิลากระทบ
ศิลากระทบ
ศิลากระทบ

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาหมายโน้มคอตีเข่า

ฝ่ายรับ รีบชิงจู่โจม กระโดดตีเข่าคู่ที่ชายโครง โอบคอโน้มศีรษะฝ่ายรุกมาข้างหน้า

การป้องกัน กระโดดถอยหลังห่างคู่ต่อสู้ หรือใช้เท้าถีบคู่ต่อสู้

การตอบแก้ แย่งสอดแขนเข้าใน ยืดศีรษะขึ้นตรง แล้วตีเข่าตอบโต้ หรือยกเข่าขวางค่ำยันไว้ที่ท้อง อีกวิธีใช้มือยันคางแล้วผลักสุดแรง

มวยไทย กวางเล่นโป่ง

มวยไทย กวางเล่นโป่ง
กวางเล่นโป่ง
กวางเล่นโป่ง

กลมวยไทยนี้ใช้แก้เตะ

ฝ่ายรุก จดเหลี่ยม

ฝ่ายรับ กระโดดเตะลอยตัว เตะด้วยเท้าขาตรง ขณะที่เท้าซ้ายยังไม่ถึงพื้น เป้าหมายขากรรไกร

การป้องกัน กระโดถอยหลังให้ห่างพ้นระยะเท้า

การตอบแก้ ใช้เท้าขวาเตะน่องซ้ายของคู่ต่อสู้ให้เสียหลักแล้วตามด้วยกลมวยเชิงอื่นๆ

ถ้าฝ่ายรุกจดเหลี่ยมซ้ายเข้าหา ให้ปฎิบัติตรงข้าม

มวยไทย สวนทวนขุนศึก

มวยไทย ทวนขุนศึก
ทวนขุนศึก
สวนทวนขุนศึก

กลมวยไทยนี้ใช้แก้เตะโดยตะปบมือปะทะที่ปลายเท้าแล้วหันหลังส่งถีบหลังเข้าที่ปลายคาง

ฝ่ายรุก เดินเข้าเตะด้วยเท้าขวา หมายชายโครงฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ ก้าวเท้ายืนให้ได้ระยะ ใช้มือทั้งสองหรือแขนปะทะ กับปลายเท้าในลักษณะก้มตัวเข้าหาปลายเท้าที่เตะมาในจังหวะเดียวกับที่ก้มตัวลงซึ่งอยู่ในลักษณะหมุนกลับหลัง เท้าขวาก็กระแทกถีบไปด้านหลังด้วยถียส้นเท้าที่ปลายคาง

ถ้าฝ่ายรุกเตะด้วยเท้าซ้าย ให้ปฎิบัติตรงข้าม

มวยไทย ญวนทอดแห

มวยไทย ญวนทอดแห

กลมวยไทยนี้ใช้แก้การถีบ โดยปัดขาให้เบนออก แล้วก้าวออกข้างเตะสวนเข้าที่ขาพับคู่ต่อสู้

ฝ่ายรุก เดินเข้าถีบด้วยเท้าซ้ายไปที่หน้าท้องฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขาทแยงเฉียงออกวงนอก ใช้แขนซ้ายปัดขาเบนแรงถีบ แล้วใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก พลิกตัวเตะสวนขึ้นด้วยเท้าขวาเข้าที่ขาพับในของคู่ต่อสู้โดยทันที

ถ้าฝ่ายรุกถีบด้วยเท้าขวา ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย ขุนยักษ์จับลิง

มวยไทย ขุนยักษ์จับลิง

กลมวยไทยนี้ใช้ฝึกหัดสำหรับมวยหลัก หรือมวยแข็งเปรียบได้ดังคนที่มีรูปร่างใหญ่ดุจยักษ์ แก้ลำมวยเกี้ยวหรือมวยอ่อนพริ้วเปรียบได้ดังคนที่มีรูปร่างเล็กดุจลิง ที่มีความคล่องแคล่วว่องไว ชั้นเชิงแพรวพราว การเข้าทำคู่ต่อสู้จะใช้กลลวงมากมาย เคลื่อนตัวอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง โดยเคลื่อนตัวไปมา ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาสลับกัน ทำให้คู่ต่อสู้จับทางมวยยาก

คนที่มีรูปร่างใหญ่ จะต้องใช้วิธีการต่อสู้อย่างรัดกุม สุขุมรอบคอบตั้งท่าคุมมวยและจดมวยอย่างมั่นคง การเคลื่อนตัวก้าวย่างต้องระมัดระวัง รอจังหวะจะลงมือต้องแม่นยำและรุนแรงจับให้มั่นคั้นให้ตาย ดังตัวอย่าง

ฝ่ายรุก ลิง เดินเข้าหา ชก เตะ ศอกเป็นชุดต่อเนื่อง

ฝ่ายรับ ยักษ์ รีบก้าวเท้าซ้ายสืบเข้าหา แขนขวาปัดหมัดเบนออกให้พ้น


ฝ่ายรุก ลิงยกเท้าขวาเตะติดต่อตามหมัดหมายชายโครง

ฝ่ายรับ ยักษ์ รีบพลิกตัวถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังหันหน้าเข้าหาฝ่ายรุกที่เตะมา งอแขนใช้ศอกกระแทกเข้าที่ต้นขาของฝ่ายรุก กระแทกเฉือนลากยาวเพื่อสลายแรงเท้า บางตำราเรียกว่า กวาดมาร


ฝ่ายรุก ลิงเหวี่ยงศอกขวากระแทกลงที่ศีรษะฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ ยักษ์ รีบพลิกตัวหันหน้าประจันฝ่ายรุก งอแขนขึ้นปะทะใต้ศอก โดยลักษณะพลิกตัวก้าวเท้าขวาไปด้านหลังครึ่งก้าว เพื่อใช้ลูกไม้อื่นต่อไป

ถ้าฝ่ายรุกชกด้วยหมัดขวาก่อน ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย สดายุชิงนาง

มวยไทย สดายุชิงนาง

ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดขวาตรงที่ใบหน้า ฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ สืบเท้าหลบเข้าวงในฝ่ายรุก ใช้หมัดหน้าคือหมัดซ็ายตวัดคล้องแขนที่ชกมาของฝ่ายรุก แล้วหมุนตัวไปทางขวาเหมือนจะใช้ศอกขวาศอกกลับ แต่ไม่ได้ใช้ศอก ซึ่งเป็นการหลอกหักแขน

มวยไทย นาคาพ่นไฟ

มวยไทย นาคาพ่นไฟ
นาคาพ่นไฟ
นาคาพ่นไฟ

ฝ่ายรุก เดินเข้ามาชกซ้าย

ฝ่ายรับ ให้ใช้หมัดซ้ายหงายมือชกท้อง แล้วสืบเท้าขวาพร้อมชกหมัดขวาตรง ที่หมายคือคางคู่ต่อสู้ แล้วใช้หมัดซ้ายสลับชกคางคู่ต่อสู้ใช้เวลารุก

การป้องกัน ถอยให้พ้นระยะหมัด แล้วใช้เท้าถีบคู่ต่อสู้ ฝ่ายรับ

การตอบแก้ ถ้าคู่ต่อสู้เข้าประชิดให้ใช้เข่าขวาพุ่งตรงท้องคู่ต่อสู้

มวยไทย กินรีเล่นน้ำ

มวยไทย กินรีเล่นน้ำ 
กินรีเล่นน้ำ
กินรีเล่นน้ำ

เชิงมวยไทยนี้ใช้เมื่อคู่ต่อสู้ซุกรักแร้ ถ้าเป็นรักแร้ข้างซ้ายให้เอียงตัว ข้างซ้ายกดศีรษะคู่ต่อสู้ให้ต่ำลงพร้อมกับกระดกส้นเท้าขวาขึ้นหมายหน้าคู่ต่อสู้

การป้องกัน ใช้แขนขวากันหน้า

การตอบแก้ ใช้ศอกกว้างสะบัดหน้า

ถ้าซุกรักแร้ขวา ให้ทำกลับกัน

มวยไทย พาชีสะบัดย่าง

มวยไทย พาชีสะบัดย่าง
พาชีสะบัดย่าง
พาชีสะบัดย่าง

พาชีสะบัดย่าง
พาชีสะบัดย่าง

เชิงมวยไทยนี้ใช้เมื่อคู่ต่อสู้เสียหลักถอย ใช้เท้าซ้ายและขวาเตะเหวี่ยงที่ขากรรไกรคู่ต่อสู้สลับกัน จนคู่ต่อสู้ล้ม

เชิงนี้ถ้าเตะจนชำนาญปลายเท้าจะแตะพื้นดินเพียงนิดเดียว ใช้เวลารุกคู่ต่อสู้เวลาถอย

การป้องกัน ใช้แขนทั้งสองข้างคุมปิดขากรรไกรไว้

การตอบแก้ ใช้เท้าขวาถีบหรือเตะรุกคู่ต่อสู้เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก

มวยไทย กำแพงภูผา

มวยไทย กำแพงภูผา
กำแพงภูผา
กำแพงภูผา

กำแพงภูผา
กำแพงภูผา

เชิงมวยไทยนี้เหมาะสำหรับสุภาพสตรีที่ถูกจู่โจมโถมเข้ามาด้านหลังใช้ศอกข้างใดข้างหนึ่งเหวี่ยงใส่หน้าผู้ไม่หวังดี ศอกอีกข้างหนึ่งพุ่งไปข้างหน้าหลังบริเวณท้องผู้ไม่หวังดี สลับกับซ้ายและขวา ข้างหนึ่งตีหรือเหวี่ยงข้างบน อีกข้างหนึ่งพุ่งข้างล่างทำอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเสียหลักหรือชกคู่ต่อสู้ผิดที่ หมายกลับมาจดอย่างเดิมไม่ทัน

การป้องกัน ของฝ่ายตรงข้าม ให้กอดแนบติดกับคู่ต่อสู้อย่าห่าง

การตอบแก้ ให้ใช้แขนสอดเข้าไปใต้รักแร้คู่ต่อสู้ ใช้ข้อมือกดโน้มคอคู่ต่อสู้มาข้างๆ ให้ต่ำลง ใช้เข่ายกขึ้นตีคางหรือบริเวณหน้าคู่ต่อสู้

มวยไทย ช้างประสานงา

มวยไทย ช้างประสานงา
ช้างประสานงา
ช้างประสานงา

กระโดดลอยตัวตีศอกคู่กลางกระหม่อม ใช้เมื่อรุกหรือถอย

การป้องกัน ให้ถอยหลังพร้อมกับยกแขนซ้ายขึ้นขวางรับศอกคู่ต่อสู้แขนขวายกขึ้นขวางกันศอกคู่ต่อสู้

การตอบแก้ ใช้เท้าขวาถีบที่ท้องคู่ต่อสู้ให้เสียหลัก แล้วชกหมัดตรงหรือใช้ศอกตี

มวยไทย อัคคีส่องแสง

มวยไทย อัคคีส่องแสง
อัคคีส่องแสง
อัคคีส่องแสง

อัคคีส่องแสง
อัคคีส่องแสง

เมื่อคู่ต่อสู้จดเหลี่ยมขวา ให้ใช้หมัดซ้ายหงายฝ่ามือชกพุ่งไปที่หน้าพร้อมกับสลับศอกพุ่งตรงชายโครงข้างซ้ายของคู่ต่อสู้

การป้องกัน ใช้หมัดขวาตบหมัดซ้ายคู่ต่อสู้ลงข้างล่าง ใช้แขนซ้ายขวางรับศอก พร้อมกับบิดตัวไปทางขวา

มวยไทย ทรายเหลียวหลัง

มวยไทย ทรายเหลียวหลัง
ทรายเหลียวหลัง
ทรายเหลียวหลัง

ใช้เมื่อคู่ต่อสู้โถมตัวเข้ามา ให้หันใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก งอศอกคว่ำมือขวางท่อนแขนขวางหน้าท้อง แล้วพุ่งศอกเฉียงไปข้างหลังให้ปะทะคางคู่ต่อสู้

การป้องกัน ใช้มือซ้ายปัดศอกไปทางซ้าย พร้อมกับเอี้ยวศีรษะไปทางขวาเล็กน้อย

การตอบแก้ ใช้เท้าซ้ายเตะน่องขาของคู่ต่อสู้เหวี่ยงไปทางขวาโดยแรง ให้ระวังศอกซ้ายของคู่ต่อสู้ตีกลับที่คางหรือชายโครง

มวยไทย ยันโยธี

มวยไทย ยันโยธี


ศอกนี้ใช้เมื่อคู่ต่อสู้เข้าข้างหลัง ให้ใช้ทั้งศอกซ้ายและขวาสลับเมื่อคู่ต่อสู้หน้าหงายปล่อยมือที่โอบเอวแล้ว ให้ตีศอกหลังขวาต่อเนื่อง

การป้องกัน ให้ใช้ศอกปิดทั้งคอและท้อง

การตอบแก้ ใช้เท้าขวาหรือเท้าซ้ายเตะปัดขาคู่ต่อสู้ให้เสียหลัก

มวยไทย คชาตกมัน

มวยไทย คชาตกมัน
คชาตกมัน
คชาตกมัน

ใช้เวลาคู่ต่อสู้โถมเข้ามา หันหลังขาซ้ายเป็นหลักแล้วคว่ำมือท่อนแขนซ้ายขวางท้องพุ่งศอกเฉียงสะบัดขึ้นไปข้างบนเป้าหมายที่หน้า

การตอบแก้ ให้ใช้หมัดขวาชกที่ปลายคางหรือหน้าอกคู่ต่อสู้

การป้องกัน ใช้แขนซ้ายยกขึ้นขวางรับหรือปัดไปข้างบนศีรษะ

มวยไทย กวางสะบัดหน้า

มวยไทย กวางสะบัดหน้า
กวางสะบัดหน้า
กวางสะบัดหน้า
ศอกสลัดใช้ได้ทั้งซ้ายและขวา เป็นศอกที่ใช้เมื่อเวลาเสียหลักให้รีบเข้าซุกใต้รักแร้ ใช้แขนซ้ายและศรีษะยื่นไปข้างหลังคู่ต่อสู้ เท้าซ้ายสืบเข้าไปอยู่ระหว่างขา งอข้อศอก แล้วบิดตัว หมุนศอกขวาเฉียงไปทางซ้ายโดยแรง พร้อมกับใช้เข่าซ้ายกระแทกต้นขาซ้ายคู่ต่อสู้ให้เสียหลัก แล้วก้มมาข้างหน้า เพื่อให้ศอกที่สลัดตกบรเวณหน้าของคู่ต่อสู้

การป้องกัน ใช้ศอกและแขนขวาขวางกัน ใช้กำลังตัวและแขนซ้ายกดศีรษะคู่ต่อสู้ต่ำลง พร้อมกับย่อตัวลง งอข้อศอกขวาบิดตัวกลับหลังทางซ้าย ใช้ศอกขวาตีบริเวณหน้าคู่ต่อสู้

มวยไทย จักรนารายณ์

มวยไทย จักรนารายณ์
มวยไทย จักรนารายณ์
มวยไทย จักรนารายณ์

ถ้าคู่ต่อสู้จดเหลี่ยมขวา ใช้ศอกขวา งอศอกคว่ำมือ มาข้างหน้าแขนขวาเสมออก หรือได้รับระดับคางของคู่ต่อสู้ หมุนตัวกลับหลังไปทางซ้ายโดยแรง ให้ใช้เท้าซ็ายเป็นหลัก ตีศอกที่คางข้างขวาของคู่ต่อสู้ ใช้เวลาถอยเมื่อคู่ต่อสู้โถมเข้ามา

การตอบแก้ ใช้มือซ็ายหรือขวาก็ได้สอดเข้าใต้รักแร้ของคู่ต่อสู้แล้วใช้ข่อมืเหนี่ยวคอคู่ต่อสู้มาข้างหน้าเฉียงขวาหรือซ้าย แล้วแต่โอกาส ใช้เข่ายกขึ้นตีคางหรือบริเวณหน้าของคู่ต่อสู้

ถ้าคู่ต่อสู้จดเหลี่ยมซ้าย ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย ยันพยัคฆ์ 1-2

มวยไทย ยันพยัคฆ์ 1-2

ถ้าคู่ต่อสู้จดเหลี่ยมขวา ให้ใช้ศอกซ้ายงอ หันปลายหมัดไปทางขวาคว่ำมือ แล้วพุ่งศอกไปข้างหน้าที่คาง แล้วกดคอคู่ต่อสู้ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง ใช้ศอกขวาตีตรงหน้าคู่ต่อสู้ซ้ำอีกใช้เวลารับคู่ต่อสู้โถมเข้ามา

การป้องกัน ให้บกแขนขวาขึ้นปัดไปทางขวา ใช้แขนซ้ายยกขึ้นขวางปะทะศอกขวาของคู่ต่อสู้

การตอบโต้ ใช้เข่าขวางอพุ่งไปชายโครงข้างซ้ายของคู่ต่อสู้หรือใช้เข่าซ้ายขวาสลับกับปะทะที่ท้องคู่ต่อสู้ก็ได้

ถ้าคู่ต่อสู้ถนัดจดเหลี่ยมซ้าย ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

มวยไทย ภูผาสะท้าน

มวยไทย ภูผาสะท้าน
ภูผาสะท้าน
มวยไทย ภูผาสะท้าน

เข่าอัดนี้ใช้ประชิดตัวพุ่งตีท้องทั้งเข่าซ้ายและขวาสลับกันต้องกอดคอคู่ต่อสู้ให้แน่น

การป้องกัน ให้ใช้แขนทั้งสองปิดอกและท้อง

การตอบโต้ พยายามถอยออกห่าง ใช้หมัดตรงชกคางคู่ต่อสู้

มวยไทย กุมกัณฑ์พุ่งหอก

มวยไทย กุมกัณฑ์พุ่งหอก
กุมกัณฑ์พุ่งหอก
กุมกัณฑ์พุ่งหอก

ถ้าฝ่ายรุกจดเหลี่ยมขวา ฝ่ายรับใช้เข่าขวาเหยียดปลายเท้าไปข้างหน้า หัวเข่าตรงไปทางซ้ายพร้อมกับบิดตัวพุ่งเข้าไปข้างหน้าที่ท้องหรืออกของคู่ต่อสู้ใช้เวลารุกหรือถอย

การป้องกัน ฝ่ายรุกบิดตัวพร้อมกับกดศอกซ้ายลงปิดชายโครง

การตอบโต้ แก้ใช้เท้าขวาถีบจิกยันคู่ต่อสู้

ถ้านักมวยจดเหลี่ยมซ้าย ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

เชิงมวย


เชิงมวยไทย
เชิงมวยไทย
เชิงมวย หมายถึง วิธีการใช้เท้า เข่า หมัด และศอก เป็นท่าทางหรือแบบแผนในการรุกและรับแบบต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นท่าซ้ำกับ กลมวยไทย แต่ตั้งชื่อพิสดารต่างออกไปอีก ในส่วนนี้จะเลือกเฉาพะลักษณะเชิงมวยที่แตกต่างทั้งกระบวนท่าการจู่โจม และการป้องกันเมื่อพลาดท่าเพลี่ยงพล้ำกลับกลายเป็นได้เปรียบ เช่น

กุมกัณฑ์พุ่งหอก คือ เชิงมวยเข่าตรง
ภูผาสะท้าน คือ เชิงมวยเข่าพุ่งซ้ายขวา
ยันพยัคฆ์ ๑-๒ คือ เชิงมวยศอกตวัด
จักรนารายณ์ คือ เชิงศอกกลับ
กวางสะบัดหน้า คือ เชิงศอกสลัด
คชาตกมัน คือ หันหลังตีศอกที่หน้า
ยันโยธี ๑-๒ คือหันหลังตีศอกสลับ
ทรายเหลียวหลัง คือ ศอกเฉียงหลัง
อัคคีส่องแสง ๑-๒ คือ หมัดสลับศอก
ช้างประสานงา คือเชิงมวยศอกคู่
กำแพงภูผา ๑-๒ คือ ศอกกลับหลัง
พาชีสะบัดย่าง ๑-๒ คือ เตะติดตาม
กินรีเล่นน้ำ คือ ส้นเท้าตีน้ำ
นาคาพ่นไฟ คือ หมัดสลับ
สดานุชิงนาง ๑-๒ คือ หลอกหักแขน
ขุนยักษ์จับลิง คือ รับหมัด
ขุนยักษ์จับลิง (๒) คือ รับเตะ
ขุนยักษ์จับลิง (๓) คือ รับศอก
ยวนทอดแห คือ เตะสวนขาพับ
ทวนขุนศึก คือ ถีบด้วยส้น
กวางเล่นโป่ง คือ กระโดดเตะ
ศิลากระทบ คือ เข่ากระทบ
พุ่งหอก คือ ศอกนำ

มวยไทย นารายณ์ข้ามสมุทร

มวยไทย นารายณ์ข้ามสมุทร
นารายณ์ข้ามสมุทร
นารายณ์ข้ามสมุทร

กระโดดเตะ กลมวยไทยนี้ใช้ตั้งรับ เมื่อคู่ต่อสุ้เตะเฉียงซ้ายหรือขวาฝ่ายรับกระโดดลอยตัวหลบการเตะเฉียง ขณะเดียวกันสะบัดเท้าที่ไม่ใช้เตะลง เพื่อส่งแรงเท้าที่จะใช้เตะที่กระโดดเด้งขึ้นเตะซอกคอของฝ่ายรุก

ฝ่ายรุก เดินเข้าหา พร้อมกับเตะเฉียงหมายชายโครง

ฝ่ายรับ กระโดดลอยตัวหลบ พร้อมกับสะบัดเท้าซ้ายลงดีดเท้าขวาเข้าปะทะก้านคอฝ่ายรุก

มวยไทย หนุมานข้ามลงกา

มวยไทย หนุมานข้ามลงกา
มวยไทย หนุมานข้ามลงกา
มวยไทย หนุมานข้ามลงกา

กลมวยไทยนี้เป็นแม่ไม้ของการฝึกกระโดดข้ามเท้า และใช้เข่าลอย

ฝ่ายรุก เดินเข้ามาเตะด้วยเท้าขวาหมายชายโครงของฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ ยกเท้าซ้ายขึ้น ก้าวกระโดดข้ามเท้าที่เตะมาในระยะต้นขาพร้อมกับงอเข่าขวาพุ่งเข้าสู่ท้องหรืออก มือทั้งสองเหนี่ยวไหล่ขวาของฝ่ายรุกเพื่อเป็นแรงส่งของการกระแทกเข่าให้หนักขึ้น

ถ้าฝ่ายรุกเตะด้วยเท้าซ้าย ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย รามสูรขว้างขวาน

มวยไทย รามสูรขว้างขวาน
รามสูรขว้างขวาน
รามสูรขว้างขวาน

กลมวยไทยนี้เป็นไม้จู่โจม โดยกระโดดเข้ารวบมือทั้งสองของฝ่ายรุก แล้วขว้างศอกเข้าแสกหน้า

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาโดยมือทั้งสองยกขึ้นตั้งสูง

ฝ่ายรับ กระโดดลอยตัวขึ้นประชิด ใช้มือซ้ายกดลงที่ข้อพับมือทั้งสอง แล้วขว้างศอกขวาเข้าแสกหน้าทันที ทุกท่าทางต้องทำให้เป็นจังหวะเดียวกัน

มวยไทย บั่นเศียรทศกัณฐ์

มวยไทย บั่นเศียรทศกัณฐ์
บั่นเศียรทศกัณฐ์
บั่นเศียรทศกัณฐ์

กลมวยไทยนี้ใช้กระโดดเข่าทั้งสองเข่า เข้าที่คาง และขณะเดียวกันศอกคู่กระแทกเข้าที่กระหม่อม

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ รีบชิงกระโดดลอยตัวขึ้นเข่าคู่เข้าที่คาง พร้อมกับกระแทกศอกคู่ลงที่กลางกระหม่อม

การฝึกควรกระโดดลอยตัวให้สูงขึ้นอยู่เสมอ เพราะไม้มวยลอยตัวจู่โจมเป็นไม้มวยพิชิตทั้งสิ้น

มวยไทย พระรามสะกดทัพ

มวยไทย พระรามสะกดทัพ
พระรามสะกดทัพ
พระรามสะกดทัพ

เตะสลับขาด้วยส้น กลมวยนี้เป็นแม่ไม้จู่โจมที่รุนแรง โดยการกระโดดพุ่งขึ้นทั้งแรงตัวและแรงขาที่ส่งไปที่ส้นเป้าหมายอกและคาง

ฝ่ายรุก เดินเข้าชกด้วยหมัดขวา

ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขวาทแยงไปทางขวา โดยยกเข่าขวาสูงถึงหัวไหล่แต่แทนที่จะเหยียบลงพื้น เท้าซ้ายที่เหยียบพื้นอยู่ก็ถีบเป็นแรงส่งกระโดดลอยตัวขึ้น เอาส้นเท้าซ้ายกระแทกที่เป้าหมาย คือ ปลายคาง เท้าขวาทำท่าจะเหยียบอากาศลง พร้อมกับที่เท้าซ้ายพุ่งสวนกันกลางอากาศ ส่งแรงไปที่เท้าซ้ายกระแทกเข้าที่หมายจากอกถึงคาง

ถ้าฝ่ายรุกชกด้วยหมัดซ้าย ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย เถรกวาดลาน

มวยไทย เถรกวาดลาน
เถรกวาดลาน
เถรกวาดลาน

เตะตัดล่าง กลมวยไทยนี้ใช้จู่โจมส่วนล่าง

ฝ่ายรุก เดินเข้ามาเตะสูง หรือยืนเตะสูงในลักษณะเท้ายืนคู่

ฝ่ายรับ เดินเข้าหาให้ได้ระยะที่เตะตัดล่าง หรือเรียกว่าเตะกวาดพร้อมกับก้มตัวลง ให้เท้าของฝ่ายรุกผ่านศีรษะไป และเตะกวาดไปที่ข้อเท้าของฝ่ายรุกที่ยืนอยู่อย่างสุดแรง

การป้องกันเตะตัดล่าง ให้ยกเคลื่อนเท้าซ้ายบิดมาทางซ้ายแล้วโต้ตอบแก้โดยหมุนตัวกลับหลัง ใช้ศอกขวาตีขากรรไกรของฝ่ายรุก

มวยไทย ยันเอราวัณ

มวยไทย ยันเอราวัณ
ยันเอราวัณ
ยันเอราวัณ

กลมวยไทยนี้ใช้ประชิด ใช้มือยันเข่าที่ยืน เพื่อป้องกันไม่ให้คู่ต่อสู้ใช้เท้าพร้อมกับยกเข่าฟาดไปยอดอกในลักษณะเหมือนไม้กระดก

ฝ่ายรุก เดินเข้าชกด้วยหมัดขวา

ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายสืบเข้าประชิดตัว ก้มตัวลงไปที่หัวเข่าใช้มือจับที่ระดับเข่าของฝ่ายรุก เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เท้าเตะพร้อมกับยกเข่าฟาดเข้ายอดอกให้เข้าทำอย่างรวดเร็วเป็นจังหวะเดียวกัน

ถ้าฝ่ายรุกชกด้วยหมัดซ้ายหรือจดมวยเหลี่ยมขวา ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย จระเข้ฟาดหาง

มวยไทย จระเข้ฟาดหาง
จระเข้ฟาดหาง
จระเข้ฟาดหาง
เตะเหวี่ยงหลัง ถ้าจดขวา ใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก ดดยยกเท้าซ้ายขึ้นเล็กน้อย บิดส้นเท้าไปทางซ้าย ขาขวา เหยียดตรงหักข้อเท้ามาทางหลังเท้าหมุนตัวมาข้างหลังโดยแรง ที่หมายส้นเท้าขวาจะกระทบขากรรไกรขวาของคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู้จับเท้าได้ ให้ยันตัวด้วยเท้าซ้ายพุ่งศอกขวาเฉียงไปข้างตัว หมายคางคู่ต่อสู้ใช้กระทำเวลาตั้งรับ หรือคู่ต่อสู้เผลอตัว

การป้องกัน ใช้แขนขวาปัดเท้าขวาคู่ต่อสู้ไปทางขวา

การตอบแก้ จับเท้าขวาคู่ต่อสู้พุ่งไปข้างหน้าให้เสียหลัก

มวยไทย ตะเพียนแฝงตอ

มวยไทย ตะเพียนแฝงตอ
ตะเพียนแฝงตอ
ตะเพียนแฝงตอ

กลมวยไทยนี้เป็นไม้จู่โจมที่รวดเร็ว และทรงประสิทธิภาพยิ่งของมวยไทย โดยใช้ศอกและเข่าพร้อมกับแรงกระโดดพุ่งไปทางด้านข้างแบบปลาตะเพียนหลบไม้

ฝ่ายรุก เดินเข้าชกด้วยหมัดขวาสู่ใบหน้าหรือจดมวยเหลี่ยมซ้าย

ฝ่ายรับ สืบเท้าซ้ายออกวงนอกเล็กน้อย เมื่อได้จังหวะศอกและเข่า ให้พุ่งตัวกระโดดขึ้นแฉลบผ่านหมัดขวาที่ชกมาอย่างสุดแรงและรวดเร็ว พร้อมศอกไปที่ใบหน้าและเข่าข้ออกหรือชายโครงฝ่ายรุก

ถ้าฝ่ายรุกชกด้วยหมัดซ้ายหรือจดมวยไหล่ซ้ายออก ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย หักคอเอราวัณ

มวยไทย หักคอเอราวัณ
กลมวยนี้ใช้บุกจู่โจมขณะที่คู่ต่อสู้เดินเข้าหา และงอขาหน้ามาก เหมือนเป็นบันไดเดินขึ้นไปเหยียบแล้วเข่าเหมือนขึ้นบันได

ฝ่ายรุก เดินเข้าหา ขาขวาอยู่หน้า งอขาขวาและทิ้งน้ำหนักตัวบนเท้าขวา

ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายขึ้นเหยียบบนต้นขาขวาของฝ่ายรุก เท้าขวาพุ่งลอยเข้าสู่ยอดอก ตามด้วยศอกคู่ลงที่กลางศีรษะ

ถ้าฝ่ายรุกยื่นเท้าซ้ายมาข้างหน้า ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย หนุมานทะยาน

มวยไทย หนุมานทะยาน



กลมวยไทยนี้เป็นแม่ไม้มวยชั้นสุดยอดของมวยไทย น้อยคนนักจะฝึกได้สำเร็จ เพราะต้องอาศัยแรงหนุนจากการเตะมาประสานกับแรงพุ่งเข่าลอยเข้าทำร้ายคู่ต่อสู้อย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายรุก เดินเข้าหา

ฝ่ายรับ ยกเท้าขวาเตะออกไปอย่างสุดแรงแล้วอาศัยแรงหมุนของแรงเตะหมุนไปหนึ่งรอบ พร้อมกับย่อขาซ้ายลงเด้งตัวขึ้นพุ่งเข่าลอยขวาเข้าสู่ยอดอกหรือปลายคางฝ่ายรุก

ถ้าฝึกพุ่งด้วยเข่าซ้าย ให้ปฎิบัติตรงกันข้าม

มวยไทย ฤาษีมุดสระ

มวยไทย ฤาษีมุดสระ
ฤาษีมุดสระ
ฤาษีมุดสระ

กลมวยไทยนี้เป็นแม่ไม้สำคัญของการพุ่งตัวเข้าทำร้ายคู่ต่อสู้ในลักษณะพุ่งตัวขนานกับพื้น

ฝ่ายรุก ยืนจดมวยแล้วเดินเข้าหาฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ ยื่นมือทั้งสองไปแหวกมือทั้งสองของฝ่ายรุกพร้อมพุ่งตัวลอยตัวให้ขนานกับพื้นเอาหัวชนใบหน้าคู่ต่อสู้

ก่อนจะฝึกกลมวยนี้ต้องหัดพุ่งชนบนพื้นที่อ่อนให้ชำนาญ

มวยไทย นกคุ้มเข้ารัง

มวยไทย นกคุ้มเข้ารัง
มวยไทย นกคุ้มเข้ารัง
มวยไทย นกคุ้มเข้ารัง

กลมวยไทยนี้ใช้สำหรับจู่โจมคู่ต่อสู้ที่สูงใหญ่กว่า โดยคู้ตัวพุ่งลอยตัว พร้อมส่งหมัดศอกและไหล่กระทบใบหน้า ลำตัว ท้องพร้อมกัน

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาโดยเปิดช่องว่างส่วนอกไว้

ฝ่ายรับ กระโดดพุ่งตัวพร้อมกับคู้ตัวในลักณะหมัดสองป้องปิดจากอกตลอดหัวเข่างอขึ้นปิดท้อง คล้ายนกคุ้มพุ่งเข้ากระแทกคู่ต่อสู้ โดยหมัดกระแทกคาง ศอกกระแทกหน้าอก เข่ากระแทกท้องอย่างสุดรุนแรง

มวยไทย หนุมานแหวกฟอง

มวยไทย หนุมานแหวกฟอง
หนุมานแหวกฟอง
หนุมานแหวกฟอง
เข่ายอ กลมวยไทยนี้ใช้จู่โจมกระโดดเข่าลอย พร้อมกับตะปบแขนคู่ ต่อสู้ลงแล้วกระโดดเข่าลอย เข่าที่ยอดอกหรือคาง

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาจดเหลี่ยม

ฝ่ายรับ ใช้เข่าขวากระโดดเข่าลอยพร้อมกับตะปบมือทั้งสองข้างแหวกแขนของฝ่ายรุก เพื่อพุ่งเข่าลอยขวาเข้าที่คางหรือหน้าอก

ถ้าฝ่ายรุกจดเหลี่ยมมวยซ้าย ให้กระโดพุ่งด้วยเข่าซ้าย

มวยไทย ตลบลง

มวยไทย ตลบลง
มวยไทย ตลบลง
มวยไทย ตลบลง
กลมวยไทยนี้ใช้บุกจู่โจม โดยใช้มือทั้งสองตะปบกดแขนคู่ต่อสู้ให้เปิดออก แล้วพุ่งเข้าสู่อกหรือหน้าท้อง

ฝ่ายรุก ยืดจดมวยหมัดต่ำระดับอก

ฝ่ายรับ เดินมวยใช้มือทั้งสองตะปบลงที่แขนทั้งสองของฝ่ายรุก แล้วกดแหวกลง ทำให้ฝ่ายรุกเปิดช่องว่างที่อกและหน้าท้องฝ่ายรับรีบพุ่งเข่าซ้ายสู่ที่หมาย

ถ้าฝ่ายรุกใช้ขวานำ ให้ตีด้วยเข่าขวา

มวยไทย อีกาฉีกรัง

มวยไทย อีกาฉีกรัง
อีกาฉีกรัง
อีกาฉีกรัง

กลมวยไทยนี้ใช้จู่โจม โดยแหวกแขนฝ่ายรุกกระโดดเข่าลอยเข้าที่คางหรือยอดอก

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาโดยจดมวยซ้ายนำ

ฝ่ายรับ กระโดดพุ่งเข่าซ้ายที่หมายยอดอกหรือปลายคาง พร้อมกับใช้มือทั้งสองตวัดขึ้นไปเปิดแขนทั้งสองของฝ่ายรุกเพื่อช่วยให้เข่าซ้ายกระทบเป้าหมาย

ถ้าฝ่ายรุกจดมวยโดยขวานำ ให้พุ่งด้วยเข่าขวา

มวยไทย ตลบขึ้น

มวยไทย ตลบขึ้น
ตลบขึ้น
ตลบขึ้น
กลมวยไทยนี้ใช้จู่โจม โดยเปิดแขนทั้งสองขึ้นแล้วพุ่งเข่าเข้าหน้าท้องหรืออก

ฝ่ายรุก เดินเข้าหาโดยจดมวยซ้ายนำ

ฝ่ายรับ เดินเข้าหา มือทั้งสองตวัดจากล่างขึ้นบน เปิดแขนทั้งสองข้างของฝ่ายรุกออกแล้ว พุ่งเข่าซ็ายที่อกหรือหน้าท้อง

ถ้าฝ่ายรุกจดมวยขวานำ ให้พุ่งเข่าขวา